
วัดบ้านแพน
สถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญภายในวัด
อุโบสถ
อุโบสถของวัดบ้านแพนแต่เดิมนั้นคงสร้างพร้อมกับการสร้างวัดในช่วงสมัยกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ และคงมีการก่อสร้างพร้อมกับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ในสมัยที่พระครูรัตนาภิรมย์ เป็น เจ้าอาวาส ราว พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีการก่อสร้างอุโบสถเป็นครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีหลักฐานบันทึกไว้ในหนังสือสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสฉบับกรมการศาสนาพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ ว่า “วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์หัวเมืองกรุงเก่าเสด็จขึ้นประทับแรมและตรวจการคณะสงฆ์ที่วัดบ้านแพน ซึ่งมีพระอยู่ (พระครูรัตนาภิรมย์) เป็นเจ้าอาวาสและได้ทรงประทานพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างอุโบสถที่ยังไม่แล้วเสร็จ” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระครูปริยัติคุณูปการณ์ เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ เป็นครั้งที่ ๓ เนื่องจากอุโบสถหลังเดิมมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการประกอบสังฆกรรม โดยขยายตัวโบสถ์ออก ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๑.๕๐ เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง ๑๕ ปี
พ.ศ. ๒๕๕๐ ในสมัยพระครูสุวรรณศีลาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน รูปที่ ๗ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ โดยเทพื้นหลังคาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เปลี่ยนกระเบื้องหลังคา ปิดกระจกช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทาสีตัวอุโบสถ และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง พ.ศ. ๒๕๕๒ ดำเนินการก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถ กำแพงแก้วรอบอุโบสถ รวมถึงเทพื้น คสล. โดยรอบอุโบสถที่เสียหายจากการเกิดปัญหาน้ำท้วมติดต่อกันมาหลายปี ดำเนินการแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี. พระวรราชา ทินัดดมาตุ เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธียกฉัตรเหนือพระประธานในอุโบสถ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีสุดท้ายในการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถครั้งนี้ พ.ศ. ๒๕๖๖ ในสมัยพระครูเสนาคุณวัฒน์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณรอบอุโบสถ โดยดำเนินการซ่อมแซมรอยแตกร้าวและทาสีเจดีย์ กำแพงแก้ว ซุ้มประตู ซุ้มพระสังกัจจายน์ เสาไฟฟ้าและซุ้มเสมา พื้นที่ ๑,๒๖๘ ตารางเมตร





สรีระสังขารหลวงพ่อพูน





พระมงคลวุฒาจารย์(หลวง พ่อพูน) และกุมารทอง(ไอ้ตัวเล็ก)





เป็นกุมารที่หลวงพ่อพูนท่านเลี้ยงไว้ตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ภายหลังจากท่านมรณภาพลงแล้วคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างรูปเหมือนถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่หลวงพ่อ พร้อมปั้นรูปเหมือนไอ้ตัวเล็กตั้งไว้คู่กับองค์หลวงพ่อเป็นอนุสรณ์รฤก ลูกศิษย์ที่มากราบหลวงพ่อไม่มีใครไม่รู้จักไอ้ตัวเล็กเพราะต่างรู้กิตติศัพท์ของไอ้ตัวเล็กดีทั้งเรืองโชคลาภ การค้าขาย และอีกมากมายหลายเรื่อง บางคนก็มาขอที่วัด บางคนก็ไปเข้าฝัน บางคนก็ปรากฏตนให้เห็นในรูปแบบต่างๆ ทั้งของที่คนนำมาถวายก็มักจะไม่ค่อยเหมือนกับกุมารของที่อื่น สอบถามก็ได้รับคำตอบว่า ไอ้ตัวเล็กไปเข้าฝัน บอกให้ซื้อเอามาถวาย เคล็ดลับการขอพรจากไอ้ตัวเล็กนอกจากจะจุดธูปขอตามปกติแล้วหลายท่านบอกว่า“ให้กระซิบที่ข้างหู”และเมื่อได้รับความสำเร็จแล้วให้รีบนำของมาถวายตามที่บอกไว้ ถ้าเป็นเรื่องโชคลาภให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งเอามาใส่ไว้ในถุงเงินแล้วจะขอโชคลาภได้อีกในครั้งต่อๆ ไป
สักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ





โบราณสถาน





ศาลาการเปรียญ
ศาลาการเปรียญวัดบ้านแพน เมื่อแรกก่อสร้างมีขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ในสมัยที่พระครูรัตนารัตนาภิรมย์ เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพ.ศ.๒๕๔๒ พระมงคลวุฒาจารย์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ เห็นว่าศาลาการเปรียญนั้นมีขนาดคับแคบไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์จึงได้ดำเนินการสร้างต่อเติมทางด้านทิศตะวันตก กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๒๘ เมตร พร้อมดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา ปิดกระจกช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทาสี และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื่องจากศาลาการเปรียญได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จึงได้ดำเนินการรื้อศาลาการเปรียญหลังเดิมลง และสร้างขึ้นใหม่ให้สูงพ้นระดับน้ำ บนพื้นที่เดิมพร้อมดีดเสายกศาลาที่อยู่โดยรอบอีก ๕ หลัง ให้สูงระดับเดียวกันโดยอาจารย์กิมน้ำ จิรรัตนพิเชษฐ์ และคณะศิษย์หลวงปู่มังกรขาว รับเป็นเจ้าภาพ
พ.ศ. ๒๕๖๔ ในสมัยพระครูเสนาคุณวัฒน์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ (หลังหน้า) ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๙ เมตร โดยดำเนินการเปลี่ยนฝ้าเป็นไม้สัก ขัดพื้นและทาสีใหม่ เปลี่ยนไฟฟ้าส่องสว่าง จัดทำหลังคากัดสาดคลุมบันได้ทางขึ้น พร้อมติดตั้งราวจับด้วย สแตนเลส ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นเชื่อมต่อระหว่างศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๒๐.๕๐ เมตร โดยดำเนินการเปลี่ยนไม้ระแนงพื้น เปลี่ยนพื้นและทำสีใหม่ เปลี่ยนไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมทำลูกรงสแตนเลส
กุฏิสงฆ์
กุฏิสงฆ์ของวัดบ้านแพนแต่เดิมเป็นทรงไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นเจ้าอาวาส ภายหลังจากได้ทำการย้ายศาลาการเปรียญแล้ว จน พ.ศ. ๒๔๙๔ พระอธิการวาสน์ ธมฺมโชโต (พระครูปริยัติคุณูปการณ์) ได้ดำเนินการก่อสร้างกุฎิสงฆ์เป็นตึกเทคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๖.๗๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง พ.ศ. ๒๕๒๑ ก่อสร้างกุฎิสงฆ์ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เพิ่มอีก ๒ หลัง พ.ศ. ๒๕๒๘ พระปลัดทองพูน ฐิ ตสีโล (พระมงคลวุฒาจารย์) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ได้ดำเนินการรื้อกุฎิทรงไทยของเดิมลง และดำเนินการก่อสร้างกุฎิสงฆ์ขึ้นใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๒๙ เมตร จำนวน ๓ หลัง และขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร จำนวน ๒ หลัง รวมปัจจุบันวัดบ้านแพนมีกุฎิสงฆ์ทั้งหมด จำนวน ๘ หลัง
เนื่องจากสภาพพื้นที่ของวัดบ้านแพนเป็นที่ราบลุ่มติดริมแม่น้ำน้อย เวลาถึงฤดูน้ำหลากทำให้ได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในระยะหลัง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา วัดบ้านแพนประสบปัญหาน้ำท่วมติดต่อกันทุกปี ระดับน้ำได้เข้าท่วมบริเวณวัดตลอดจนอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย พระภิกษุสงฆ์และสามเณรได้รับความเดือดร้อนไม่มีสถานที่พำนักอาศัย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ในสมัย พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ดำเนินการ ดีดเสายกกุฎิ ทั้ง ๘ หลัง ให้พ้นเหนือระดับน้ำที่เข้าท่วมเป็นประจำทุกปี โดยได้รับพระราชทานเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เงินอุดหนุนบูรณะฟื้นฟูจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเงินจัดสร้างวัตถุมงคลของพระครูสุวรรณศีลาธิคุณ (หลวงพ่อพูน)
โรงเรียนพระปริยัติธรรม
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดบ้านแพน เป็นอาคาร คสล. ทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
โดยพระมงคลวุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
๑. ใช้เป็นสถานที่สอบนักธรรมและธรรมศึกษา ในสนามหลวง ของคณะสงฆ์อำเภอเสนา
๒. เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดบ้านแพน
๓. เป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมอำเภอเสนา
๔. ใช้เป็นที่จัดการประชุมพระสังฆาธิการ คณะสงฆ์อำเภอเสนา
๕. ใช้เป็นสถานที่จัดปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์สามเณร และญาติโยม
ด้านศึกษาสงเคราะห์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในสมัยที่พระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺส) เป็นเจ้าอาวาส ได้อนุญาตให้ทางราชการใช้ศาลาการเปรียญของวัดบ้านแพน เปิดเป็นโรงเรียน โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลตำบลสามกอ ๑ โรงเรียนประชาบาลตำบลสามกอ ๑ (ศรีรัตนานุกูลวัดบ้านแพน) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระครูรัตนาภิรมย์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก แบบ ป.๐๒ พิเศษ ๒ ชั้น จำนวน ๑๐ ห้องเรียน เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนของโรงเรียน โดยมี พระอาจารย์วาสน์ ธมฺมโชโต วัดบ้านแพน เป็นหัวหน้าการก่อสร้าง โดยในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนวัดบ้านแพน “ศรีรัตนานุกูล”
พ.ศ. ๒๕๐๖ ในสมัยพระครูปริยัติคุณูปการ (วาสน์ ธมฺมโชโต) เป็นเจ้าอาวาส ได้เป็นคณะกรรมการและผู้อุปการะการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ๐๐๘ จำนวน ๑๗ ห้องเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ยาว ๑๓๗ เมตร ต่อมาทางโรงเรียนได้มีการขยายชั้นเรียน จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก ๑ หลัง จำนวน ๕ ห้องเรียน
ในสมัยที่พระมงคลวุฒาจารย์ (หลวงพ่อพูน) เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา ได้ให้ความอุปถัมภ์โรงเรียนวัดบ้านแพนในหลายๆ ด้าน อาทิ มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเป็นประจำทุกปี พ.ศ. ๒๕๕๑ สนับสนุนงบประมาณในการปูพื้นกระเบื้องอาคารเรียน พ.ศ. ๒๕๕๒ รับเป็นประธานอุปถัมภ์การเปลี่ยนเสายกอาคารเรียน และอาคารห้องสมุด พ.ศ. ๒๕๕๓ รับเป็นประธานอุปถัมภ์การถมดินสนาม และทำถนนคอนกรีตบริเวณโรงเรียน นอกจากนี้ ยังให้การอุปถัมภ์การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนมาโดยตลอด