องค์ความรู้ : สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา
- วัดบ้านแพน
- May 13, 2023
- 1 min read
เรื่อง หอระฆัง วัดบ้านแพน
วัดบ้านแพน ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเดิมชื่อ “วัดจันทรคูหาวาส”ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่ระบุถึงการสร้างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นสมัยใด มีเพียงตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงที่มาของชื่อวัดบ้านแพนไว้ว่า เดิมมีสำเภาใหญ่ล่องมาทางคลองรางจระเข้ และได้เจอกับกระแสน้ำวนบริเวณปากคลองทำให้สำเภาเสียการทรงตัว กระแทกเข้ากับริมตลิ่ง และไม่สามารถควบคุมทิศทางการเดินเรือได้ จนกระทั่งเรือล่วงเข้าสู่ท้ายคลองจึงจมลง เหลือเพียงเสากระโดงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ส่วนข้าวของและสัมภาระที่ติดมากับเรือต่างลอยกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ต่างเข้าช่วยกันตามกำลัง ชาวบ้านบางส่วนได้ลากเอาเสื่อลำแพนที่ลอยไปติดเนินดินขึ้นตากแดดจนแห้ง จึงได้มีการเรียกชื่อแห่งนั้นว่า “บ้านแพน”ส่วนกกที่ลอยไปติดใกล้โคกใหญ่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำไปตากบนโคกจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเสื่อ” ส่วนพ่อค้าสำเภา ภายหลังจากเรืออับปางจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเตือนใจในสัจธรรมของชีวิต และนำเสากระโดงเรือตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วให้ชื่อวัดว่า“วัดเสากระโดงทอง” ในส่วนบริเวณที่ชาวบ้านนำเสื่อลำแพนไปตากนั้น เป็นบริเวณพื้นที่ในการครอบครองของวัดจันทรคูหาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาชาวบ้าน ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบ้านแพน” ส่วนโคกเสื่อนั้นเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทางและไหลผ่านมายังบริเวณโคกดังกล่าวนั้น จึงทำให้กลายเป็นชุมทางเรือและการค้าขาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเสนา
นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวถึงที่มาของชื่อ วัดบ้านแพน ไว้ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔ ว่า แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดบ้านแพนปัจจุบันเป็นป่ามีนกยูงจำนวนมาก เวลารำแพนแผ่ปีกหางสวยงาม จึงเป็นเหตุให้นำมาเป็นชื่อบ้านและวัดในเวลาต่อมาว่า บ้านยูงรำแพน หรือ บางแพน จนกระทั่งเพี้ยนมาเป็นบ้านแพนในปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกชื่อ วัดบ้านแพน อีกชื่อหนึ่งว่า วัดจันทรคูหาวาส
วัดบ้านแพน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราว พ.ศ. ๒๓๒๕ มีโบราณสถานสำคัญประกอบด้วย มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆัง และศาลาท่าน้ำ ๒ แห่ง
สำหรับหอระฆังตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโบสถ์ ลักษณะเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนชุดฐานสิงห์ย่อมุม (ขนาด ๕ x ๕ เมตร) และฐานทักษิณ (ฐานเขียงย่อมุม) มีระเบียงล้อมรอบแนวระเบียงประดับกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียวแกมฟ้า ตรงกลางลายดอกโบตั๋น ที่มุมแนวระเบียงประดับด้วยเสาหัวเม็ดทุกมุม มีบันไดทางขึ้นด้านเหนือ ตัวอาคารหอระฆังย่อมุมตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ เจาะช่องโค้งปลายแหลมทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งเป็นลักษณะรูปแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในตรงกลางใต้เพดานเจาะช่องสำหรับแขวนระฆัง เหนือเรือนธาตุเป็นซุ้มบันแถลงทั้ง ๔ ด้าน ส่วนเครื่องบน/ส่วนยอดจำลองเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ๔ ด้าน มีเจดีย์องค์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง
จากลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมหอระฆัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้มีการซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเนื่องจากพบการประดับกระเบื้องปรุอิทธิพลจีน ซึ่งเป็นวัสดุประดับที่มักนิยมใช้กรุตามพนักระเบียงและกำแพงแก้วของโบสถ์ วิหาร หอไตร และหอระฆัง หรือในสถาปัตยกรรมไทยในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ – สมัยรัชกาลที่ ๓
เรียบเรียง: นางสาววิไลวรรณ อยู่ทองจุ้ย นักโบราณคดีชำนาญการ
เอกสารอ้างอิง - กรมศาสนา. กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๘. - สมพจน์ สุขาบูลย์. “รูปแบบศิลปกรรมของหอระฆังสมัยรัตนโกสินทร์.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
Comments